veneer-day

บริการรักษารากฟัน

รักษารากฟัน คืออะไร

การรักษารากฟัน คือ ขบวนการกำจัดเชื้อจุลชีพที่อยู่ในโพรงประสาทฟัน หรือเนื้อ เยื่อขนาดเล็กที่อยู่ใจกลางฟัน อันเป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อ อักเสบ ของโพรงเนื้อ เยื่อในโพรงประสาทฟัน หากโพรงประสาทฟันบางส่วนถูกทำลายจะต้องทำการเอาออกเพื่อรักษาและทำความสะอาดส่วนที่เหลือให้ปราศจากเชื้อโรคและซ่อมแซม อุดคลองรากฟันและบูรณะตัวฟัน เพื่อคืนความแข็งแรงและสวยงาม ให้ฟันกลับมาใช้งานได้ตามปกติ การรักษารากฟัน เป็นวิธีที่ช่วยให้ไม่ต้องถอนฟันออกไป ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถช่วยรักษาฟันไว้ได้

โพรงประสาทฟัน คืออะไร

โพรงประสาทฟัน คือชั้นที่อยู่ด้านในสุดของฟันที่ประกอบด้วย เส้นประสาทของฟัน เส้นเลือดที่มาเลี้ยง และรวมถึงท่อน้ำเหลือง ทำให้เมื่อมีฟันผุลุกลามมาในชั้นโพรงประสาทฟัน จึงทำให้เกิดการอาการปวดฟันที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งถ้ามีการติดเชื้อลุกลามมากขึ้น เชื้อโรคจะกระจายลงสู่ปลายรากฟัน และทำให้รากฟันอักเสบ

การรักษารากฟัน แตกต่างจากการถอนฟันอย่างไร

การรักษารากฟันสามารถเก็บรักษาฟันเดิมเอาไว้ใช้งานได้ต่อไปได้ โดยดีกว่าการถอนฟันแล้วเลือกวิธีการใส่ "ฟันปลอม" เพราะฟันที่รักษารากแล้วจะมีคุณสมบัติเหมือนฟันในปากซี่อื่นๆ คือ มีเบ้ากระดูกยึดให้ฟันแน่นมั่นคงแข็งแรง และให้ความรู้สึกที่ดีกว่าการใส่ฟันปลอม สามารถใช้งานได้ สะดวกเป็นธรรมชาติ

ทำไมต้องรักษารากฟัน

เมื่อทันตแพทย์ตรวจแล้วพบว่า ยังสามารถทำการรักษารากฟันได้ โดยที่ไม่ต้องถอนออก ก็จะแนะนำให้รักษารากฟัน ซึ่งประโยชน์ของขบวนการรักษารากฟันจะช่วยให้การเคี้ยวกลับมามีประสิทธิภาพที่ดีเหมือนเคย และสามารถใช้ฟันกัดอาหารได้อย่างปกติ ลักษณะรูปร่างของฟันกลับมาสวยงาม และที่สำคัญที่สุดคือปัญหาสุขภาพฟันไม่ลุกลามป้องกันไม่ให้ฟันซี่อื่นถูกทำร้ายไปด้วย

สาเหตุหลักการเกิดปัญหาที่รากฟัน

  • ฟันผุมาก
  • มีปัญหาโรคเหงือก
  • ฟันได้รับการกระทบกระแทก จนทำให้ฟันแตกหัก จนถึงโพรงประสาทฟัน
  • นอนกัดฟันรุนแรง
  • มีพฤติกรรมการเคี้ยวที่ค่อนข้างรุนแรง การกัดเค้นฟัน หรือใช้ฟันรุนแรง นับเป็นการไปรบกวนโพรงประสาทฟัน ส่งผลให้ฟันมีอาการร้าว จนกระทั่งเชื้อโรคสามารถแทรกซึมข้าไปในส่วนของโพรงประสาทฟันได้

ปัญหารากฟัน

มักมีสัญญาณเตือนด้วยอาการ เจ็บเวลา เคี้ยวหรือกัดอาหารมีอาการเสียวฟัน เมื่อดื่มเครื่องดื่มร้อนหรือเย็น และรู้สึกฟันหลวมหรือโยก ที่เป็นเช่นนี้เพราะรากฟันถือเป็นส่วนหนึ่งในอวัยวะในช่องปากที่สำคัญมาก ซึ่งฟันแต่ละซี่จะประกอบไปด้วยโพรงประสาทฟัน (Pulp chamber) ซึ่งเป็นส่วนที่รับสัญญาณความรู้สึก เมื่อโพรงประสาทฟันหรือคลองรากฟันเกิดการติดเชื้อจะทำฟันซี่นั้นตายไปจึงเกิดอาการแสดงดังที่กล่าวมาข้างต้น รวมไปถึง ในบางรายอาจมีอาการหน้าบวม มีน้ำหนองไหลจากฟันที่ติดเชื้อ รากฟันเป็น หนอง หรือมีตุ่มหนองขึ้นบนเหงือก สีของฟันคล้ำลง ได้อีกด้วย

หนองปลายรากฟัน เกิดจากอะไร

อาการสัญญาณเตือนรุนแรงที่บ่งบอกได้ว่ารากฟันกำลังมีปัญหาหนักคือ เกิดหนองที่ปลายรากฟัน ซึ่งอาจจะมีหนองไหลออกมาให้เห็น หรือพบได้จากการ x-ray เห็นเป็นลักษณะเงาดำอยู่ที่ปลายรากฟันนั้นหมายถึงว่ามีเชื้อโรคนั้นลุกลามไปจนกระทั่งทำลายส่วน ของเนื้อเยื่อทั้งโพรงประสาทฟันแล้ว ซึ่งลักษณะนี้ทันตแพทย์จะไม่สามารถ อุดฟัน ได้อย่างเดียว ต้องรักษารากฟันให้เรียบร้อยเสียก่อน

ทั้งนี้ การพบหนองที่ปลายรากฟันเกิดขึ้นได้จากการที่ปล่อยให้เกิดฟันผุเป็นระยะเวลานาน โดยที่ไม่ได้รับการรักษา จนมีการอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณ รอบปลายรากฟัน ซึ่งจะมีอาการปวดฟันเวลาเคี้ยว หรือเมื่อฟันกระทบกัน บางรา ยอาจมีอาการบวมหรือตุ่มหนองบริเวณเหงือกหรือเพดานเกิดขึ้นร่วมด้วย

ไม่มีอาการปวดฟัน ทำไมต้องรักษารากฟัน

ในบางครั้งปัญหารากฟันอักเสบจากภาวะฟันผุหรือแตกมานาน ซึ่งอาจไม่ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวด หรืออาจเคยปวดแต่หายแล้ว แต่ว่าการดำเนินของโรคก็ยังคงอยู่ อาจจะมีโอกาสที่จะกลับมาปวดอีกครั้งหรือมีการติดเชื้อมากกว่าเดิมเพราะราก ฟันเองยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา ซึ่งเมื่อทำการ x-ray และพบว่ามีหนองในรากฟัน ดังนั้นเมื่อตรวจพบควรรีบทำ การรักษารากฟันทันที เพื่อลดการสูญเสียฟัน

การรักษารากฟันมีกี่ประเภท

การรักษารากฟันแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักคือ

1. การรักษารากฟันด้วยวิธีปกติ

ทันตแพทย์จะตรวจวัดความยาวของคลองรากฟัน โดยการถ่ายเอกซเรย์แล้วจะใช้ File ขนาดเล็กเพื่อรักษารากฟันและทำความสะอาดภายในคลองรากฟันเพื่อขจัดเนื้อเยื่อที่มีปัญหาและแบคทีเรีย หลังจากนั้นจะใช้วัสดุอุดคลองรากฟัน ( Gutta percha ) โดยที่ฟันจะไม่ถูกอุดอย่างถาวรจนกว่าจะขจัดจนปลอดเชื้อในโพรงประสาทและคลองรากฟัน

2. การรักษารากฟันด้วยวิธีการผ่าตัดปลายรากฟัน

วิธีการนี้จะเลือกใช้เมื่อวิธีที่หนึ่งล้มเหลว โดยจะทำการผ่าตัดเข้าไปที่ตำแหน่งปลายราก ฟันที่เป็น หนองทำการตัดปลายรากฟันออกบางส่วน ซึ่งปัจจุบันมีกล้องจุลศัลยกรรมที่ช่วยเพิ่มกำลังขยายในการมองเห็นคลองรากฟันที่มีขนาดเล็กให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

การเตรียมตัวก่อนรักษารากฟัน

  • เมื่อพบทันตแพทย์และได้รับการวินิฉัยว่ามีฟันผุทะลุโพรงประสาทและจะต้องรักษารากฟัน แพทย์จะส่งต่อแพทย์เฉพาะที่ทำครอบฟัน ว่าซี่ดังกล่าวสามารถทำครอบได้หรือไม่ เพราะถ้าทำครอบฟันไม่ได้ การรักษารากฟันอาจไม่มีความหมาย
  • โดยทั่วไปจะใช้ 2 ครั้งในการรักษารากฟัน
  1. ครั้งแรก คือ การทำความสะอาดโพรงประสาทฟันและรากฟัน โดยการขยายขนาดของบริเวณคลองรากฟัน รวมถึงใช้น้ำยาทำความสะอาดเพื่อกำจัดเชื้อโรค
  2. ครั้งที่สอง คือ เมื่อโพรงประสาทฟันและรากฟันสะอาดปราศจากเชื้อโรค คุณหมอจะอุดคลองรากฟันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และถ้าเป็นไปได้คุณหมอจะทำเดือยฟัน (core build up) เพื่อเป็นแกนกลางในการเสริมสร้างความแข็งแรงของการทำครอบฟันต่อไป

ขั้นตอนการรักษารากฟัน

  1. ในการรักษารากฟันนั้นทันตแพทย์จะทำร่วมกับการฉีดยาชา โดยจะใช้แผ่นยาง บางๆ เพื่อแยกฟัน (Rubber dam) ที่มีปัญหาออกจากฟันอื่น
  2. จากนั้นทันตแพทย์จะเอาฟันผุส่วนที่เสียหายออกและกำจัดเอาเนื้อฟันที่อักเสบหรือติดเชื้อออกจนถึงส่วนโพรงประสาทฟัน
  3. ทำความสะอาดรากฟัน และใส่ยาลง ไปในคลองรากฟัน
  4. ปิดรากฟันด้วยวัสดุอุดชั่วคราว เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ

ทำไมต้องใช้ที่ครอบฟัน หลังการรักษารากฟัน

หลังจากทำการรักษารากฟันทันตแพทย์มักทำครอบฟันให้เพื่อป้องกันการแตกหักของตัวฟัน เนื่องจากการักษารากฟันมีความซับซ้อน และไม่ได้เสร็จสิ้นในครั้งเดียว จึงใส่ที่ครอบฟันไว้เพื่อปกป้องกันการแตกของฟันสามารถเลือกประเภทครอบฟันได้ตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นโลหะ เซรามิก หรือ เซอร์โคเนีย

การดูแลรักษาหลังจากรักษารากฟัน

ภายหลังการรักษารากฟันทันตแพทย์จะให้คำแนะนำในการฏิบัติตัว แนะนำว่าควรปฎิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อผลประโยชน์สูงสุดในการรักษารากฟันที่มีประสิทธิภาพและสามารถใช้ งานได้ยืนยาว ดังนี้

  1. ไม่ควรรับประทานอาหารในทันที่ และควรงดรับประทานอาหารจนกว่าอาการ ชาที่ใช้จะหมดไป ป้องกันการกัดลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม
  2. ควรระมัดระวังในการใช้งานซี่ฟันที่รักษารากฟัน งดเคี้ยว หรือ กัดอาหาร ด้วยฟันซี่ที่รักษารากฟัน อาจทำให้ฟันแตกหรือหักได้
  3. ในกรณีที่วัสดุอุดฟันชั่วคราวนั้นหลุดให้มาพบทันตแพทย์ทันที เพื่อป้องกันโรคในช่องปากที่สามารถเขาสู่ภายในคลองรากฟันได้
  4. มาตามนัดแพทย์เพื่อลดโอกาสเสี่ยงถอนฟันซี่นั้นออกในอนาคตหากละเลย