veneer-day

บริการผ่าฟันคุด

ฟันคุด คืออะไร

ฟันคุด ( Impacted Tooth, Wisdom Tooth ) คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติในช่องปาก อาจโผล่ออกมาเพียงบางส่วนเท่านั้นหรือในบางกรณีฟันคุดนั้นฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรทั้งซี่ก็มี เพราะว่าฟันคุดขึ้นช้ากว่าฟันซี่อื่นๆ ทำให้ไม่มีช่องว่างเพื่อที่จะโผล่ขึ้นมาได้

ฟันคุดจะมีทั้งหมด 4 ซี่ ด้วยกันคือด้านในของช่องปากทั้งบนและล่างในฝั่งซ้ายและขวา สามารถ พบได้บ่อยๆ ในบริเวณฟันกรามซี่สุดท้าย ซึ่งอยู่ด้านในสุดของกระดูกขากรรไกรล่าง

ลักษณะฟันคุด ที่ต้องผ่า

ฟันคุดที่ต้องผ่า เพื่อลดปัญหาอาการปวด และอาการติดเชื้อ เช่น การอ้าปากได้จำกัด หรือ กลืนน้ำลายเจ็บคอ ในอนาคต มี 2 ลักษณะ

  • ฟันคุดที่มีเหงือกคลุม (soft tissue impaction) มีลักษณะแค่เหงือกอย่างเดียวที่ปกคลุมฟันคุดและตัวฟันมีลักษณะตั้งตรงสามารถเอาออกโดยการเปิดเหงือก ร่วมกับการถอนฟันคุด
  • ฟันคุดที่มีกระดูกคลุม (bony impaction) มีทั้งเหงือกและกระดูกที่คลุมฟันคุด รวมถึง ลักษณะตัวฟันคุดมีตำแหน่งได้หลายแบบ เช่น ตั้งตรง , เอียงตัว , นอน ทำให้ต้องมีการกรอกระดูกร่วมกับการแบ่งฟันคุดเป็นส่วนๆ เพื่อนำฟันคุดออกมา

สาเหตุการเกิดฟันคุด

ฟันคุดจะขึ้นในช่วงอายุประมาณ 16-25 ปี โดยอาจโผล่ขึ้นมาในลักษณะ ตั้งตรง เอียงหรือนอนในแนวราบ และมักจะอยู่ชิดกับฟันซี่ข้างเคียงเสมอ เกิดจากฟันที่พยายามงอกขึ้นมา จึงมีแรงผลักดันการงอก และเป็นไปได้ว่าจะเบียดฟันซี่ข้างๆ หรืองอกขึ้นมาในขากรรไกร

จึงทำให้เกิดอาการปวดฟันรุนแรง สร้างความทรมานแก่คนไข้ และนอกจากฟันคุดบริเวณฟันกรามล่างซี่สุดท้ายแล้ว ยังสามารถพบฟันคุดได้บริเวณฟันซี่อื่นๆ ฟันเขี้ยว ฟันกรามน้อย แต่พบได้น้อย กว่าฟันกรามล่างซี่สุดท้าย

จะรู้ได้อย่างไร? หากมีฟันคุด

อาการของผู้ที่มีฟันคุด อาจมีอาการปวดฟันแสดงให้รู้สึก โดยจะรู้สึกเจ็บปวดมาก หรืออาจมีอาการอักเสบของเหงือกรอบๆ แก้มบวมโย้ อ้าปากได้น้อย กลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ ร่วมด้วย ในบางรายอาจมีอาการบวมและติดเชื้อลุกลามมาถึงใบหน้า แก้ม และลำคอ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากตัวฟันไม่โผล่ขึ้นมาเหนือเหงือก ต้องใช้การเอกซเรย์จึงจะสามารถเห็นได้

อาการปวดฟันคุดโดยมากเกิดจากการติดเชื้อของฟันหรือเหงือกบริเวณนั้น ทำให้เกิดอาการปวด บวม ยิ่งมีการติดเชื้อมากขึ้นเท่าไหร่ อาการปวดก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น

ทำไมต้องผ่า หรือ ถอนฟันคุด

ฟันคุด นั้นไม่ได้มีประโยชน์ ตามหลักการแล้วฟันคุดทุกซี่ควรจะได้รับการเอาออกโดยเร็วที่สุดหลังตรวจพบ และฟันคุดยังสามารถสร้างปัญหาให้กับช่องปากได้อีกหลายประการดังนี้

  1. ฟันคุดทำให้ฟันผุ เมื่อฟันคุดงอกขึ้นมาในลักษณะผิดรูปจึงเป็นที่กักเศษอาหารได้เป็นอย่างดี และเมื่อเราไม่สามารถทำความสะอาดออกได้ทั้งหมด ส่งผลให้ฟันคุดซี่นั้นผุและมักลุกลามไปยังฟันซี่ข้างๆให้ผุตามไปด้วย ในบางรายนั้นนอกจากจะต้องผ่าฟันคุดออกแล้ว ยังจำเป็นต้องถอนฟันซี่ข้างๆ ที่ผุออกตามไปด้วย
  2. ฟันคุดบ่อเกิดปัญหาเหงือกอักเสบ เมื่อฟันคุดงอกโผล่ออกมาได้ไม่หมดอาจทำให้ เหงือกเข้าไปปกคลุมฟันและเมื่อมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือกแล้วไม่สามารถทำความสะอาดได้ เชื้อแบคทีเรียที่มาสะสมอยู่จะทำให้เหงือกเกิดการอักเสบ ปวดและบวมเป็นหนอง เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ไปยังส่วนอื่นๆ มีการติดเชื้อ บางรายกลืนไม่ได้ ลุกลามลงคอ อาจทำให้หายใจไม่ได้ จำเป็นต้องพบแพทย์โดยเร่งด่วน
  3. ฟันคุดมีโอกาสทำให้เกิดถุงน้ำ เมื่อมีฟันคุดเนื้อเยื่อรอบอาจพัฒนาเป็นถุงน้ำหรือเนื้องงอกได้ และด้วยฟันคุดที่มักอยู่ติดกับขากรรไกร จึงดัน เบียดกินกระดูกขากรรไกรไปเรื่อยๆ ในอนาคตจะส่งผลให้ใบหน้าผิดรูป มีโอกาสในการสูญเสียอวัยวะขากรรไกร และกระดูกขากรรไกรหักง่ายหากมีการกระทบ

ขั้นตอนการถอนฟันคุด ผ่าฟันคุด

เมื่อเอกซเรย์ตรวจพบตำแหน่งของฟันคุดทันตแพทย์จะวางแผนการผ่าฟันคุดออก ซึ่ง ขั้นตอนการผ่าฟันคุดออกนั้นเป็นเรื่องง่าย ไม่ได้น่ากลัวอย่างหลายคนกังวลและไม่ต่าง ไปจากการถอนฟันซี่อื่นๆ มากนัก

โดยทันตแพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อระงับความรู้สึก หลังจากนั้นก็จะเปิดเหงือก เพื่อให้ เห็น ฟันคุดซี่นั้นๆ แล้วใช้เครื่องกรอตัดฟันออกมา แล้วล้างทําความสะอาดก่อนเย็บแผลปิด การผ่าฟันคุดไม่จำเป็นต้องเสียเวลาพักฟื้น เมื่อทำเสร็จสามารถกลับบ้านได้ไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล

การดูแลรักษาหลังผ่าฟันคุด

  1. หลังผ่าตัดฟันคุด ห้ามบ้วนเลือดและนํ้าลาย ในวันนั้น เพราะอาจทําให้เลือดไหลไม่หยุดได้ ให้กัดผ้าก๊อสนาน 1-2 ชั่วโมง กลืนนํ้าลายตามปกติได้
  2. ควรประคบนํ้าแข็ง หรือ cold pack บริเวณแก้ม ในช่วง 3-5 วันแรก เพื่อลดอาการบวม
  3. หลังจากวัน ผ่าตัดอาจมีอาการตึงๆบริเวณแก้มด้านที่ทําการผ่าตัด ควรฝึกบริหารกล้ามเนื้อโดยการอ้าปาก
  4. ระหว่างช่วงที่มีอาการปวดฟันคุด โดยในช่วงเวลานั้นสามารถรับประทานยาแก้ปวดและยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่ง เพื่อบรรเทาอาการ และรับประทานอาหารได้มากขึ้น
  5. แนะนำให้เลือกรับประทานอาหารชนิดอ่อนๆ ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนต่อแผล
  6. การทำความสะอาด สามารถแปรงฟันทําความสะอาดในช่องปากตามปกติ และกลับไปตัดไหมหลังผ่าตัด 5- 10 วัน

ฟันคุด สามารถป้องกันได้ไหม

ฟันคุดเป็นฟันที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงไม่สามารถป้องกันได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือการตรวจเช็คสุขภาพช่องปากและฟันอย่างสม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติ จะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที

การผ่าฟันคุดออก ไม่ได้เป็นเรื่องน่ากลัว หากเปรียบเทียบกับโทษที่อาจเกิดจากฟันคุด และหากพบว่ามีฟันคุดเกิดขึ้นแล้วแต่ปล่อยปะละเลย กลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และการติดเชื้อลุกลามไปอวัยวะอื่นๆ และปัญหาสุขภาพปากและช่องฟันที่ตามมา ทั้งเหงือกอักเสบ ฟันผุ เกิดขึ้นได้สำหรับใครที่ไม่แน่ใจว่าตนเองมีฟันคุดหรือไม่สามารถตรวจเอกซเรย์หาตำแหน่งของฟันคุดได้เพื่อวางแผนการรักษากับทันตแพทย์ได้โดยทันที ไม่ต้องรอให้เกิดอาการปวด ส่งผลเสียในภายหลัง